เทคโนโลยีและพระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย

ความหมายของเทคโนโลยี  คำว่า เทคโนโลยี ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Technology" ซึ่งมาจากภาษากรีกว่า "Technologia" แปลว่า การกระทำที่มีระบบ อย่างไรก็ตามคำว่า เทคโนโลยี มักนิยมใช้ควบคู่กับคำว่า วิทยาศาสตร์ โดยเรียกรวม ๆ ว่า "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี"
        พจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน (2539 : 406) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยี คือ "วิทยาการที่เกี่ยวกับศิลปะในการนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติและอุตสาหกรรม" นอกจากนั้นยังมีผู้ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้หลากหลาย การที่มีผู้ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้หลากหลาย สรุปได้ว่า เทคโนโลยี หมายถึง  วิชาที่นำเอาวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ มาประยุกต์ใช้ตามความต้องการของมนุษย์  เช่น โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวถึงความหมายของเทคโนโลยีเป็นภาษาง่าย ๆ ว่า หมายถึง การรู้จักนำมาทำให้เป็นประโยชน์นั่นเอง



 “การสื่อสารเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้ารวมทั้งการรักษาความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศด้วย ยิ่งสมัยปัจจุบันที่สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ย่อมมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ”

     พระราชปรารภเกี่ยวกับการสื่อสารฯ พระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานวันที่ 15 กรกฎาคม 2528







พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงศึกษาคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงาม เพื่อแสดงผลบนจอภาพคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆ และทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนพระราชภารกิจต่างๆ ทั้งยังทรงเคยประดิษฐ์ ส.ค.ส. ด้วยคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนเพื่อทรงอวยพรปวงชนชาวไทย




                  ปราชญ์แห่งโทรคมนาคม

เครดิตภาพ : https://library.stou.ac.th
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีทางโทรคมนาคม เป็นอย่างมาก เพราะทรงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและความมั่นคงของประเทศ ในปี 2513 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ผศ.ดร.สุธี อักษรกิตต์ อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ออกแบบและสร้างสายอากาศที่มีย่านความถี่สูงมากกว่าเดิม โดยมีพระราชประสงค์เพื่อใช้สายอากาศในการพัฒนาและปรับปรุงการใช้งานเครื่องวิทยุให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แทนการนำเครื่องวิทยุต่างๆ ไปปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเป็นการยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า





      ในการพัฒนาสายอากาศดังกล่าว พระองค์ได้ทรงกำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้งานและคุณสมบัติทางเทคนิคด้วยพระองค์เอง ทรงทดลองใช้งานและพระราชทานคำแนะนำเพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จนเกิดเป็นสายอากาศ สุธี1 สุธี2 สุธี3 และสุธี4 ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้สายอากาศทั้ง 4 แบบดังกล่าว ไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2524 กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ตั้งชมรมวิทยาอาสาสมัคร “VR” (Voluntary Radio) และทูลเกล้าฯ ถวายสัญญาณเรียกสาย “VR-009” ทำให้ชาววิทยุอาสาสมัครมีโอกาสได้รับฟังพระสุรเสียงของพระองค์อยู่บ่อยครั้ง โดยทรงพระราชทานคำแนะนำในการแก้ปัญหาทางเทคนิคต่างๆ ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายแก่นักวิทยุอาสาสมัครอยู่เสมอ





ขอบคุณข้อมูลจาก : library.stou.ac.th
ภาพจาก : www.hs3lzx.com

ความคิดเห็น